- Version
- Download 1
- File Size 81.12 KB
- File Count 1
- Create Date 24 กุมภาพันธ์ 2018
- Last Updated 24 กุมภาพันธ์ 2018
พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. ๒๕๕๕
พระราชกำหนด
กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
พ.ศ. ๒๕๕๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. ๒๕๕๕”
มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้
“ภัยพิบัติ” หมายความว่า วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบัติภัย และภัยพิบัติอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
“ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย” หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกระทรวงการคลัง เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยการรับประกันภัยและทำประกันภัยต่อ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๕ รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
มาตรา ๖ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๑๒
(๓) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๑๓
(๔) เงินที่เป็นเบี้ยประกันภัย
(๕) เงินที่ได้รับจากการชดเชยค่าสินไหมทดแทนหรือการคืนเบี้ยประกันภัยจากการทำประกันภัยต่อ
(๖) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาคให้
(๗) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของกองทุน
มาตรา ๗ กิจการของกองทุนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
มาตรา ๘ กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๔ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๓) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(๔) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา ๙ การจ่ายเงินจากกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดังต่อไปนี้
(๑) การดำเนินการในการรับประกันภัยและการทำประกันภัยต่อ และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๒) การบริหารกองทุน และการอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดการกิจการของกองทุน
มาตรา ๑๐ การรับประกันภัยและการทำประกันภัยต่อของกองทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง กองทุนอาจมอบหมายหรือว่าจ้างนิติบุคคลอื่นให้ดำเนินการแทนก็ได้
มาตรา ๑๑ ประเภทของการประกันภัย แบบและกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัยและการชดเชยค่าสินไหมทดแทนในการรับประกันภัยของกองทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๒ ในกรณีที่มีความจำเป็นและคณะกรรมการเห็นสมควร กองทุนอาจให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายจากการชดเชยค่าสินไหมทดแทนในการรับประกันวินาศภัยที่เป็นภัยพิบัติร้ายแรง
ให้ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยที่ประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่งแจ้งความประสงค์ต่อกองทุน และเมื่อกองทุนพิจารณาเห็นสมควรให้ความช่วยเหลือและแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทราบแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
การให้ความช่วยเหลือ การขอรับความช่วยเหลือ และการนำส่งเงิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้นำความในมาตรา ๑๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๓ ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และนำส่งเข้ากองทุนเพื่อให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
การกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินห้าหมื่นล้านบาท
มาตรา ๑๔ วงเงิน การจัดการและวิธีการที่เกี่ยวกับการกู้เงิน ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
มาตรา ๑๕ ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินและการออกและการจัดการตราสารหนี้อาจจ่ายจากเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือเงินกู้รายนั้นก็ได้
มาตรา ๑๖ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๑๗ นอกจากกรณีที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชกำหนดนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกจำนวนไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ
ให้ปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงการคลังคนหนึ่งเป็นเลขานุการและอีกไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๑๙ การดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๐ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกองทุนให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) กำหนดนโยบายและให้ความเห็นชอบในการดำเนินงานของกองทุน
(๒) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติให้หน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกำหนดนี้
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการบริหารกิจการของกองทุนตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒
(๔) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
(๕) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(๖) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือเกี่ยวเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา ๒๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
มาตรา ๒๒ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๓ การบัญชีของกองทุนให้จัดทำตามหลักสากลตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๔ ให้กองทุนจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี
ในทุกรอบปี ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุน โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำบันทึกรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ และให้ส่งสำเนารายงานดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่การดำเนินกิจการของกองทุนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ให้รัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการยุบเลิกกองทุน
เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วย ให้กองทุนยุบเลิกเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
ให้สภาพนิติบุคคลของกองทุนดำรงอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการตามมาตรา ๒๖
มาตรา ๒๖ เมื่อยุบเลิกกองทุนแล้ว ให้ทำการตรวจสอบทรัพย์สินและชำระบัญชี รวมทั้งการโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ยังคงเหลืออยู่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เกิดวิกฤตการณ์อุทกภัยอย่างร้ายแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะและฟื้นฟูประเทศ เยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชน รวมทั้งดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ โดยการจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น นอกจากนี้ ผลจากการเกิดความเสียหายนั้นยังทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเริ่มถดถอยและอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูประเทศทั้งการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย การป้องกันภัยพิบัติที่ใกล้จะถึงและการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ลงทุน ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลายแนวทาง และโดยที่ปรากฏว่า ในขณะนี้ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการรับประกันวินาศภัยที่เกิดจากภัยพิบัติ ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการต้องเสียเบี้ยประกันเป็นจำนวนสูงมากหรือไม่สามารถเอาประกันภัยได้ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการของบุคคลดังกล่าวที่อาจเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศ สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เพื่อจัดตั้งกองทุนในการทำหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๒๗ มกราคม ๒๕๕๕
ชาญ/ผู้ตรวจ
๓๑ มกราคม ๒๕๕๕
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐ ก/หน้า ๕/๒๖ มกราคม ๒๕๕๕