พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘

Download
Download is available until [expire_date]
  • Version
  • Download 1
  • File Size 418.72 KB
  • File Count 1
  • Create Date 25 กุมภาพันธ์ 2018
  • Last Updated 25 กุมภาพันธ์ 2018

พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘

พระราชกำหนด
การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๕๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้
“คณะกรรมการการบินพลเรือน” หมายความว่า คณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
“มาตรฐานสากล” หมายความว่า มาตรฐานที่กำหนดตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโกเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

หมวด ๑
องค์กรด้านการบินพลเรือน

ส่วนที่ ๑
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

มาตรา ๕ ให้จัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยขึ้น เรียกโดยย่อว่า “กพท.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Civil Aviation Authority of Thailand” เรียกโดยย่อว่า “CAAT” เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

มาตรา ๖ กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

มาตรา ๗ สำนักงานมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) กำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และพัฒนา กิจการการบินพลเรือน ทั้งในด้านนิรภัย การรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศ เศรษฐกิจ การขนส่งทางอากาศ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล
(๒) ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ
(๓) ส่งเสริม และพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งทางอากาศ อุตสาหกรรมการบินและกิจการการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล
(๔) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจการการบินพลเรือนให้สามารถดำเนินการและแข่งขันได้ในระดับสากล

มาตรา ๘ นอกจากอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนา กิจการการบินพลเรือน ทั้งในด้านนิรภัย การรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศ เศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานการบินพลเรือนของประเทศ
(๒) เสนอแนะนโยบายต่อคณะกรรมการการบินพลเรือนเกี่ยวกับกิจการการบินพลเรือนและการขนส่งทางอากาศ
(๓) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
(๔) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการให้กับคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการการบินพลเรือนมอบหมาย
(๕) ดำเนินการจัดทำแผนอำนวยความสะดวก แผนรักษาความปลอดภัย และแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ รวมทั้งแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการการบินพลเรือนพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว
(๖) ดำเนินการจัดระเบียบการบินพลเรือน รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้น่านฟ้าให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
(๗) ตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินและกิจการการบินพลเรือนปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมาตรฐานสากล
(๘) กำกับดูแลกิจการสนามบินและสนามบินอนุญาตที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศหรือตามกฎหมายอื่นให้เกิดความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล
(๙) ให้ความร่วมมือและสนับสนุนคณะกรรมการการบินพลเรือนและส่วนราชการในการประสานงานหรือเจรจากับองค์การระหว่างประเทศหรือต่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิในการบิน หรือการทำความตกลงใด ๆ เกี่ยวกับการบินพลเรือนอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น
(๑๐) ร่วมมือและประสานงานกับองค์การหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในด้านการบินพลเรือนตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
(๑๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนากิจการการบินพลเรือน
(๑๒) ให้การรับรองหลักสูตรและสถาบันฝึกอบรมผู้ประจำหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกำหนดคุณสมบัติและความรู้ของบุคลากรด้านการบินอื่นที่พึงต้องมี
(๑๓) กำหนดมาตรฐานการทำงานของผู้ประจำหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
(๑๔) จัดทำทะเบียนอากาศยาน รวมทั้งทะเบียนผู้ประจำหน้าที่และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือน
(๑๕) จัดทำและเผยแพร่ความรู้และข่าวสารเกี่ยวกับการบินพลเรือน
(๑๖) ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสำนักงาน หรือตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๙ ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน ให้สำนักงานกระทำการดังต่อไปนี้ได้
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
(๓) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน

มาตรา ๑๐ สำนักงานอาจมีรายได้และทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
(๒) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๓) ค่าธรรมเนียมที่สำนักงานเรียกเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
(๔) ค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือนตามมาตรา ๓๙
(๕) เงินเพิ่มตามมาตรา ๔๑
(๖) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการหรือรายได้หรือผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน
(๗) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญา
(๘) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้สำนักงาน
(๙) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากทุน รายได้ หรือทรัพย์สินของสำนักงาน

มาตรา ๑๑ รายได้ตามมาตรา ๑๐ ให้ตกเป็นของสำนักงานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ในกรณีที่มีเงินเหลือจ่ายเกินความจำเป็น ให้สำนักงานนำส่งเงินเหลือจ่ายนั้นให้กระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในกรณีที่รายได้ของสำนักงานมีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสำนักงานและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม และสำนักงานไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐพึงจัดสรรเงินอุดหนุนให้ตามความจำเป็น

มาตรา ๑๒ ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานในเรื่องทรัพย์สินของสำนักงานมิได้

มาตรา ๑๓ รายได้ทั้งปวงของสำนักงาน ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้สำนักงานได้รับการยกเว้นภาษีและอากรนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้าเพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน

มาตรา ๑๔ รายได้และทรัพย์สินของสำนักงานให้ใช้เพื่อกิจการของสำนักงานโดยเฉพาะ

ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

มาตรา ๑๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนกองทัพอากาศคนหนึ่ง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารกิจการการบินพาณิชย์ ด้านกฎหมาย ด้านการเงินหรือการคลัง ด้านบริหารจัดการ หรือด้านอื่นใดซึ่งจะยังประโยชน์ต่อกิจการของสำนักงาน
ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น

มาตรา ๑๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีแต่ไม่เกินหกสิบห้าปี
(๓) เป็นผู้มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ตามที่ได้รับแต่งตั้ง

มาตรา ๑๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการบริหารหรือจัดการของนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือนทุกด้าน
(๕) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(๖) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
(๗) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
(๘) เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(๙) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(๑๐) เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสำนักงานหรือที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีสัญญาจ้างกับสำนักงาน
(๑๑) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับสำนักงานหรือในกิจการซึ่งมีสภาพเป็นการแข่งขันกับกิจการของสำนักงาน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

มาตรา ๑๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
ในกรณีที่ครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๑๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗

มาตรา ๒๐ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนด
(๒) ให้ความเห็นชอบเป้าหมาย แผนงาน และโครงการที่ผู้อำนวยการเสนอ
(๓) กำกับดูแลการบริหารงานและการดำเนินการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งของสำนักงาน และให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
(๔) ออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งส่วนงาน การบริหารจัดการองค์กร การบริหารงานทั่วไป การเงิน การคลัง การใช้จ่ายเงินงบประมาณ การพัสดุ การบริหารงานบุคคล ค่าจ้าง ค่าตอบแทน การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น และการอื่นที่จำเป็นในการบริหารกิจการของสำนักงาน
(๕) ให้ความเห็นชอบในการกำหนดค่าธรรมเนียม ค่าตรวจสอบ ค่าบำรุง ค่าตอบแทนและค่าบริการใด ๆ ในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน
(๖) อนุมัติการบรรจุแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ปฏิบัติงานระดับรองผู้อำนวยการขึ้นไปของสำนักงาน
(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษา หรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(๘) ดำเนินการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชกำหนดนี้หรือตามกฎหมายอื่น

มาตรา ๒๑ การประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๒ ให้กรรมการและอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ส่วนที่ ๓
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

มาตรา ๒๓ ให้สำนักงานมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงในด้านการบินและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านกิจการการบินพลเรือนหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสำนักงาน
การสรรหาและคัดเลือกผู้อำนวยการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๔ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓ แล้ว ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีแต่ไม่เกินหกสิบห้าปี
(๓) สามารถปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา

มาตรา ๒๕ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นผู้อำนวยการ
(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการบริหารหรือจัดการของนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือนทุกด้าน
(๕) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(๖) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
(๗) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
(๘) เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(๙) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

มาตรา ๒๖ ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

มาตรา ๒๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หรือข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ
(๔) คณะกรรมการให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๕) คณะกรรมการให้ออก เพราะไม่สามารถผลักดันให้มีการกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข มาตรฐานและแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลตามมาตรา ๓๗ (๑) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลได้ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมการบิน
(๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๒๕

มาตรา ๒๘ ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตามพระราชกำหนดนี้และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อกำหนด นโยบายและมติของคณะกรรมการ รวมทั้งมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอเป้าหมาย แผนงาน และโครงการต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย แผนงาน และโครงการนั้น
(๒) ระมัดระวังและแก้ไขปัญหาทั้งปวงมิให้กิจการการบินพลเรือนของประเทศตกอยู่ในภาวะต่ำกว่ามาตรฐานสากล
(๓) ดำเนินการและควบคุมดูแลให้มีการดำเนินการตามมาตรา ๓๗ ให้เกิดความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
(๔) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือนเสนอต่อรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่มีกฎหมายกำหนด
(๕) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสำนักงาน รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
(๖) เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานของสำนักงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการ
(๗) เป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
(๘) ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือระเบียบของคณะกรรมการ
(๙) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา ๒๙ ในการบริหารกิจการของสำนักงาน ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานทุกตำแหน่ง และรับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงาน
ในการกำกับดูแลด้านนิรภัยการบินและการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือน ให้ผู้อำนวยการดำเนินการตามกฎหมายและเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการอาจมอบอำนาจให้ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานกระทำการใดแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๑ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
การจำกัดอำนาจของผู้อำนวยการให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการซึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นิติกรรมใดที่ผู้อำนวยการกระทำโดยไม่เป็นไปตามข้อบังคับตามวรรคสอง ย่อมไม่ผูกพันสำนักงาน เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

มาตรา ๓๒ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองผู้อำนวยการที่มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทน แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจของคณะกรรมการที่จะแต่งตั้งรองผู้อำนวยการคนอื่นเป็นผู้รักษาการแทน ในกรณีที่ไม่มีรองผู้อำนวยการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕ คนหนึ่งเป็นผู้รักษาการ
ให้ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้อำนวยการ

มาตรา ๓๓ ผู้อำนวยการต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับสำนักงานหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สำนักงาน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ในกรณีที่บุพการี คู่สมรส ผู้สืบสันดาน หรือบุพการีของคู่สมรสของผู้อำนวยการกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้อำนวยการมีส่วนได้เสียในกิจการของสำนักงาน
นิติกรรมใดที่ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง ไม่มีผลผูกพันสำนักงาน

มาตรา ๓๔ อัตราเงินเดือนและประโยชน์อย่างอื่นของผู้อำนวยการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๕ ในกรณีจำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานจะจ้างชาวต่างประเทศที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานก็ได้

มาตรา ๓๖ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงาน ผู้อำนวยการอาจขอให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ มาปฏิบัติงานในสำนักงานเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของผู้นั้น
ให้ถือว่าข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่น ที่ได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง เป็นการได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใด ๆ และให้นับระยะเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในสำนักงานสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานเต็มเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่มาปฏิบัติงานในสำนักงาน ให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในสังกัดเดิมในระดับตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าระดับตำแหน่งเดิม

หมวด ๒
การควบคุมและกำกับดูแลเกี่ยวกับการบินพลเรือน

มาตรา ๓๗ ในการกำกับดูแลการบินพลเรือนและควบคุมกิจการการบินพลเรือน ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ ระเบียบและคำสั่ง เพื่อกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข มาตรฐานและแนวปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์
(ก) ผู้ประจำหน้าที่
(ข) กฎจราจรทางอากาศ
(ค) กฎการปฏิบัติการบิน
(ง) การใช้น่านฟ้า
(จ) อุตุนิยมวิทยาการบิน
(ฉ) แผนภูมิการบิน
(ช) หน่วยมิติในการสื่อสารระหว่างอากาศกับพื้นดิน
(ซ) การดำเนินบริการเดินอากาศ
(ฌ) เครื่องหมายสัญชาติและเครื่องหมายการจดทะเบียนของอากาศยาน
(ญ) ความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน
(ฎ) การอำนวยความสะดวกของการขนส่งทางอากาศ
(ฏ) การสื่อสารทางไกลสำหรับการเดินอากาศ
(ฐ) บริการจราจรทางอากาศ
(ฑ) การจัดตั้งและการดำเนินงานสนามบิน
(ฒ) การบริการข่าวสารการบิน
(ณ) การรักษาสิ่งแวดล้อม
(ด) การรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน
(ต) การขนส่งสินค้าอันตรายทางอากาศ
(ถ) การบริหารจัดการความปลอดภัย
(ท) ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือน
(๒) กำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล การปฏิบัติในเรื่องทั้งปวงที่เกี่ยวกับการบินพลเรือนเพื่อให้มั่นใจว่าอากาศยานและผู้ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับตาม (๑) ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับ ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ตาม (๑)
(๓) เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม (๒) นอกจากอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศให้ผู้อำนวยการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้อำนวยการมอบหมายมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มาชี้แจงหรือส่งเอกสารหลักฐานมาประกอบการพิจารณา และมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบได้ แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่ใด ๆ นอกเวลาทำการ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองก่อนหรือได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกชั่วโมงแล้ว รวมทั้งมีอำนาจเข้าไปในหรือขึ้นไปกับอากาศยานในระหว่างเวลาใด ๆ ที่อากาศยานนั้นจอดอยู่หรือทำการบิน

มาตรา ๓๘ ในการกำกับดูแล ควบคุม ส่งเสริม และพัฒนา กิจการการบินพลเรือนในด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ อย่างน้อยสำนักงานต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กำกับดูแลและตรวจสอบการกำหนดราคาและการจัดเก็บค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการการเดินอากาศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนด
(๒) กำกับดูแลและตรวจสอบการเรียกเก็บค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนอื่นใดของผู้ดำเนินการสนามบินสาธารณะให้เป็นไปตามอัตราและเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติ
(๓) กำกับดูแลและตรวจสอบการเรียกเก็บค่าบริการเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศให้เป็นไปตามอัตราและเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติ
(๔) กำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตาม การประกอบกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการการเดินอากาศให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
(๕) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดสรรสิทธิการบินและการอนุญาตการบินแก่อากาศยานและสายการบินของไทยและต่างประเทศ

หมวด ๓
ค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือน

มาตรา ๓๙ นอกจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศแล้วให้สำนักงานมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือน ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าธรรมเนียมการทำการบินที่เรียกเก็บจากผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินขึ้นลง ณ สนามบินสาธารณะใด ๆ ในประเทศ ตามอัตราที่สำนักงานกำหนด
(๒) ค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศที่เรียกเก็บจากผู้ดำเนินการเดินอากาศโดยคำนวณจากผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามายังหรือออกไปจากประเทศ ตามอัตราที่สำนักงานประกาศกำหนด
(๓) ค่าธรรมเนียมการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เรียกเก็บจากผู้ดำเนินการเดินอากาศที่รับขนสินค้าทางอากาศจากสนามบินสาธารณะใด ๆ ในประเทศ โดยคำนวณจากราคาค่าส่งที่ระบุในใบตราส่งสินค้าทางอากาศตามอัตราที่สำนักงานประกาศกำหนด
(๔) ค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่เรียกเก็บจากผู้ให้บริการหรือผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ จุดให้บริการใด ๆ ในประเทศ ตามอัตราร้อยละต่อลิตรที่สำนักงานประกาศกำหนด
อัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการบินพลเรือนแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๔๐ ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้ให้บริการหรือผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมที่กำหนดตามมาตรา ๓๙ และนำส่งเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวภายในระยะเวลาและตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม

มาตรา ๔๑ ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๔๐ ไม่นำส่งค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา ๓๙ ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือนที่ตนไม่ได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน

หมวด ๔
ความสัมพันธ์กับรัฐบาล

มาตรา ๔๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลให้สำนักงานดำเนินการตามกฎหมายและนโยบายและแผนที่คณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ เพื่อการนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกประธานกรรมการ กรรมการ และผู้อำนวยการ มาชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานเสนอ และมีอำนาจสั่งยับยั้งการกระทำของสำนักงานหรือผู้อำนวยการที่เห็นว่าขัดต่อนโยบายหรือแผนดังกล่าว
ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจกำกับการดำเนินงานของสำนักงานและผู้อำนวยการให้ดำเนินงานให้ทันต่อเหตุการณ์และถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและตามอนุสัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ จะสั่งให้ผู้อำนวยการชี้แจงข้อเท็จจริง หรือปรับปรุง แก้ไข หรือระงับการกระทำใด ที่เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือกฎข้อบังคับหรืออนุสัญญาได้

มาตรา ๔๓ ในกรณีที่สำนักงานจะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

หมวด ๕
การตรวจสอบและการบัญชี

มาตรา ๔๔ ให้สำนักงานวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการและเป็นไปตามหลักสากลและสอดคล้องกับระบบการบัญชีที่กระทรวงการคลังได้วางไว้

มาตรา ๔๕ ให้สำนักงานจัดให้มีการตรวจสอบภายในโดยผู้ตรวจสอบภายในเป็นประจำและรายงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลการตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการ
การพิจารณาความดีความชอบประจำปีของผู้ตรวจสอบภายในให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการตรวจสอบเสนอแนะ

มาตรา ๔๖ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ของสำนักงานส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี

มาตรา ๔๗ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบ เป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี เพื่อคณะกรรมการเสนอต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการสอบบัญชี

มาตรา ๔๘ ให้สำนักงานจัดทำรายงานการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และเผยแพร่รายงานนี้ต่อสาธารณชน
รายงานการดำเนินงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายละเอียดของงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นแล้ว พร้อมทั้งผลการดำเนินงาน และอุปสรรคการดำเนินงานของสำนักงานในปีที่ล่วงมา รวมทั้งแนวทางการแก้ไข และแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๔๙ ในวาระเริ่มแรกที่ยังไม่มีผู้อำนวยการ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการจนกว่าจะมีผู้อำนวยการ

มาตรา ๕๐ ในวาระเริ่มแรก ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการของกรมการบินพลเรือน ดังต่อไปนี้ มาปฏิบัติงานของสำนักงานเป็นการชั่วคราว
(๑) กองมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน
(๒) กองมาตรฐานสนามบิน
(๓) สำนักกำกับกิจการขนส่งทางอากาศ
(๔) สำนักมาตรฐานการบิน ยกเว้นที่เกี่ยวกับงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและงานนิรภัยการบินและสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุ
(๕) สำนักส่งเสริมและพัฒนากิจการขนส่งทางอากาศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะสั่งให้ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานราชการอื่นที่สังกัดกรมการบินพลเรือน นอกเหนือจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งมาปฏิบัติงานของสำนักงานเป็นการชั่วคราวด้วยก็ได้
ให้ผู้ที่มาปฏิบัติงานของสำนักงานตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามที่เคยได้รับอยู่ และให้นับเวลาที่มาปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นเวลาราชการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ

มาตรา ๕๑ ข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานราชการสังกัดกรมการบินพลเรือนผู้ใดประสงค์จะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ให้แสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ผ่านการคัดเลือกหรือประเมินจากผู้อำนวยการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และได้รับการบรรจุเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานแล้ว ให้เป็นอันออกจากราชการ
ผู้ที่ออกจากราชการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือในกรณีเป็นลูกจ้างให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง
ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานราชการที่ดำรงตำแหน่งในสังกัดหน่วยงานตามมาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง ผู้ใดไม่ประสงค์จะไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน หรือไม่ได้รับการคัดเลือกหรือไม่ผ่านการประเมินตามวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นในกรมท่าอากาศยานหรือหน่วยงานอื่นในกระทรวงคมนาคม ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานราชการดังกล่าวพ้นจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับข้าราชการหรือผู้ที่มีข้อผูกพันต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานที่ทางราชการกำหนด ในกรณีเช่นนั้น ให้ข้าราชการหรือผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐตามที่ปลัดกระทรวงคมนาคมกำหนด โดยคำนึงถึงวิชาความรู้ที่ผู้นั้นมีอยู่ และในกรณีที่ผู้นั้นถูกสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ อันเป็นเหตุให้ต้องออกจากราชการ ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวโดยอนุโลม
การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
การบรรจุและแต่งตั้งลูกจ้างตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง

มาตรา ๕๒ ให้โอนงบประมาณของกรมการบินพลเรือนในส่วนที่เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานตามมาตรา ๕๐ มาเป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนประเดิมของสำนักงานตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นของพนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าว
ให้โอนเงินงบประมาณและทรัพย์สินอื่นของกรมการบินพลเรือนนอกจากที่กำหนดในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจที่โอนมาเป็นของสำนักงานตามพระราชกำหนดนี้ ไปเป็นของสำนักงาน ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนด
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ จากการที่ประเทศไทยได้รับการตรวจสอบติดตามการดำเนินการภายใต้โครงการตรวจสอบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program ; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้เปลี่ยนวิธีการตรวจสอบจากเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ใช้วิธีการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติระหว่างประเทศ (SARPs) เฉพาะในภาคผนวกที่ ๑ ภาคผนวกที่ ๖ และภาคผนวกที่ ๘ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ใช้วิธีการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติระหว่างประเทศในทุกภาคผนวกที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย (All Safety-related annex) มาเป็นวิธีการตรวจสอบแบบเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง (Continuous Monitoring Approach ; CMA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นมา ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวปรากฏผลของการขาดประสิทธิผลในการดำเนินการ (Lack of Effective Implementation ; LEI) ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนที่สำคัญรวม ๘ ด้าน ซึ่งมีผลทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ประกาศการพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ของประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ประกาศในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ไม่เห็นชอบกับแผนแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่ประเทศไทยได้จัดทำเสนอด้วยเหตุนี้ จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อมิให้ผลของการประกาศพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยข้างต้นส่งผลต่อการถูกปรับลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยจากองค์การบริหารการบินอื่น รวมถึงการพิจารณาสิทธิการบินและการทำการบินของไทย อันจะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ผลกระทบต่อประโยชน์และความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและต้องปรับปรุงรูปแบบ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งให้เป็นไปตามข้อกำหนดและข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๒ ตุลาคม ๒๕๕๘

ปริญสินีย์ - วิชพงษ์/ผู้ตรวจ
๒ ตุลาคม ๒๕๕๘

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๙๕ ก/หน้า ๑/๑ ตุลาคม ๒๕๕๘